วันอังคารที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2561

รีวิวการเลื่อนระดับจากภาคีวิศวกรไฟฟ้ากำลังเป็นสามัญวิศวกรไฟฟ้ากำลัง ตอนจบ

รีวิวการเลื่อนระดับจากภาคีวิศวกรไฟฟ้ากำลังเป็นสามัญวิศวกรไฟฟ้ากำลัง ตอนจบ 🤣😆🙄

             ถึงกำหนดวันสัมภาษณ์ ก็ให้ไปก่อนสัมภาษณ์ซัก 30 นาทีก็ดีครับ โดยวันสัมภาษณ์ก่อนขึ้นไปสัมภาษณ์ต้องมาจ่ายเงินค่าธรรมเนียมการสอบสัมภาษณ์  1500 บาท ที่ชั้น 2 ก่อนครับ จากนั้นก็ขึ้นไปชั้น 5 (อันนี้ไม่ชัวจำชั้นไม่ได้ครับ) เป็นชั้นเดียวกับที่สอบข้อเขียนภาคีครับ โดยในรอบที่ผมไปสอบจะมีผู้เข้าสอบประมาณ 9 คน ก็จะมีคณะกรรมการประมาณ 3 ห้องนะครับ โดยเจ้าหน้าที่จะจัดเราลงแต่ละห้องแบบสุ่มนะครับ หลังจากนี้ก็ตามคิวที่ได้ โดยสัมภาษณ์ 1 คนใช้เวลาประมาณ 30-40 นาที

ห้องที่คณะกรรมการใช้ในการสัมภาษณ์

              พอถึงคิวก็ เข้าไปสัมภาษณ์เลยครับ เข้าไปกรรมการก็ให้แนะนำตัวเบื้องต้น และทำงานอะไรมาบ้าง โดยคณะกรรมการก็จะถามข้อมูลจากผลงานเด่นที่เราส่งไปนะครับ และก็มีส่วนอื่นที่ไม่เกี่ยวกับที่เราส่งไปก็เยอะครับ ตอบไม่ได้ก็เยอะครับ ตัวอย่าง เช่น
กรรมการ : LA ด้านแรงสูงเนี่ยทำไมใช้ขนาด 5 kA มีที่มายังไง ,ระบบสายส่งของการไฟฟ้ามี Overhead Ground Wire ป้องกันแล้วทำไมฟ้ายังผ่าสายส่งได้อยู่, ทำไมถึงเลือกใช้ Detune Filter  แล้วทำไมใช้ 6% ,เลือกใช้ Detune แล้วเคยใช้แบบ Tune ใช้ยังไง, Ground grid มีไว้เพื่ออะไรใช้ทำอะไร, ระบบ Ground แรงสูงกับแรงต่ำถ้าจะเอามาต่อร่วมกันต้องมีเงื่อนไขอะไร, Undervoltage Relay ใส่ที่ MDB ใหม เอาไว้ทำอะไร,ระบบ Ground แรงต่ำคิดขนาดตัวนำอย่างไร ต่อกันแบบไหน ฯ ก็คำถามก็อยู่ประมาณนี้นะครับ มีอีกหลายข้อที่จำไม่ได้ครับ ซึ่งสิ่งที่กรรมการจะถามก็แล้วแต่ดวงนะครับ บางคนก็อาจจะได้คำถามที่มีคำตอบอยู่ในมาตรฐาน วสท. นะครับ บางคนอาจจะเจอคำถามนอกหนังสือเยอะครับ แต่ยังไงก็ตามคำถามส่วนใหญ่ก็จะมาจากในผลงานเด่นที่เรายื่นไป โดยส่วนตัวผมว่าคำถามบางคำถามถ้าตอบไม่ได้ก็บอกไม่ได้ไปเลยครับ เพราะถ้ามั่วไปอาจจะโดนถามคำถามอื่นต่อซึ่งมักจะเป็นคำถามที่ยากทำให้เราเอ๋อไปซะดื้อๆ ครับ พาให้ตอบข้ออื่นหลังจากนี้รวนๆไปด้วย พอสัมภาษณ์เสร็จเจ้าหน้าที่ก็จะให้รอเช็คผลจากทางเว็ปเหมือนเดิมนะครับ โดยวันที่ประกาศผลสัมภาษณ์จะแสดงมาภายหลังที่เราไปสอบประมาณไม่เกิน 1 อาทิตย์นะครับ ซึ่งในกรณีของผมแจ้งมาคือ 1 เดือนหลังจากสอบสัมภาษณ์


ระหว่างนี้ก็จะมีเวลา 1 เดือน ที่จะเตรียมเงินนะครับ (5555+) โดยจำนวนที่ทราบเบื้องต้นคือ ถ้าผ่านสัมภาษณ์จะต้องเเตรียมเงิน 3500 บาท สำหรับค่าใบประกอบอาชีพสามัญวิศวกรนะครับ หรือในบางกรณีอาจารย์ก็จะให้อบรมเพิ่มเติมนะครับอันนี้ก็แล้วแต่ดุลพินิจกรรมการครับ ถ้าตกสัมภาษณ์ เท่าที่ทราบมานะครับจะต้องไปสอบข้อเขียนเพิ่มเติม โดยเสียเงินค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นอีก 1500 บาท 

และแล้วก็ครบกำหนดนะครับ ก็ถึงเวลาเข้าไปเช็คผลสัมภาษณ์ครับ เปิดเข้าไปที่เว็ปของสภาวิศวกรเหมือนเดิมครับ เข้าไปที่บริการสมาชิก>>>ตรวจสอบสถานะการยื่นคำขอรับใบอนุญาต หรือตามลิ้งนี้ครับ http://www.coe.or.th/coe-2/main/coeHome.php?aMenu=21301 ผลปรากฎว่าผ่านนะครับ


เลขที่ออก .....4300 (-_-'')  ก็จะมีใบเสร็จให้เราพิมพ์สำหรับชำระเงินตามธนาคารหรือตามที่ในใบเสร็จกำหนดนะครับ 
ข้อมูลแสดงประวัติการขอใบอนุญาติและค่าธรรมเนียมสำหรับขอสามัญวิศวกร โดยการกรอกเลขที่สมาชิกครับ

 จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ เมื่อจ่ายเงินแล้วเราจะต้องรอการจัดส่งภายใน 1 เดือนนะครับ ในกรณีที่ไม่ได้ไปรับที่สภาวิศวกร
 แต่ถ้าไปจ่ายเงินที่สภาวิศวกรสามารถรอรับได้เลยครับใช้เวลาประมาณ ครึ่ง ชม. ครับ โดยถ้าใครไม่สะดวกสามารถไปรับได้วันเสาร์ภายในเวลาทำการครับ หน้าตาบัตรก็เหมือนเดิม ส่วนใบประกาศนียบัตรจะส่งตามมาให้ทีหลังครับ (ของเคสผมใช้เวลา 3 อาทิตย์)


ใบ กว.ระดับสามัญวิศวกร


ประกาศษนียบัตรรับรองการเป็นสามัญวิศวกรครับ

สรุป จากที่เล่ามาทั้งหมดนะครับ
1.     การเตรียมเอกสารก็ให้เป็นไปตามที่อธิบายข้างต้นครับ เน้นที่
a.   ใบ กว. ต้องมีอายุมากกว่า 3 ปี
b.     ผลงานที่ยื่นต้องเข้าข่ายวิศวกรรมควบคุม พูดง่ายๆ คือต้องใช้ ใบ กว. ถึงจะทำงานนั้นๆได้ ซึ่งในแต่ละสาขาจะมีข้อกำหนดอยู่ ยกตัวอย่างเช่น สาขาไฟฟ้ากำลัง งานออกแบบถ้าโหลดอาคารนั้นๆ เกิน 300 kVA ถือเป็นงานเป็นงานวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมาย ถ้าต่ำกว่า 300 kVA จะไม่ถือเป็นงานวิศวกรรมควบคุมครับ
c.      บัญชีปริมาณงาน เป็นไปได้ก็ใส่ไปให้หมดครับที่เคยทำ เพื่อเป็นการแสดง progress เราครับว่ายังทำงานนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะบางทีถ้าผลงานเด่นเราไม่เวิร์ค ตรงนี้ก็น่าจะมีส่วนในการพิจารณาครับ
     2.    การเตรียมตัวเพื่อสอบสัมภาษณ์ ส่วนใหญ่ก็มาจากงานที่เราทำ ซึ่งจากการสอบถามเพื่อนๆพี่ๆ พบว่า ให้เริ่มอ่านมาตรฐานติดตั้งของ  วสท. ก่อนครับถ้าไม่มีเวลา ผมว่าการรับไฟฟ้าจากการไฟฟ้า การต่อลงดิน จะเป็นเรื่องที่คณะกรรมการถามบ่อยที่สุดให้เตรียม อ่านมาเยอะๆหน่อยครับ นอกจากนั้น ก็ให้เตรียมดูผลงานที่เรายื่นครับ เราควรจะตอบได้ให้หมดทุกอย่างที่ปรากฎในแบบ Single line และ Schematic ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลในการใช้งาน การคำนวณค่าอุปกรณ์และพิกัดอุปกรณ์ต่างๆ ที่เหลือก็อาจจะมีคำถามเกี่ยวกับการติดตั้งหน้างานนิดหน่อยครับ ***เน้นที่ผลงานเด่นที่เราส่งไปเราควรจะรู้ที่มา และเหตผลในการเลือกใช้อุปกรณ์ต่างๆครับ ***
     3.     ค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียม
a.      ค่าธรรมเนียมสอบสัมภาษณ์ 1500 บาท
b.     ค่าต่ออายุสมาชิก 800 บาท
c.      ค่าใบประกอบอาชีพ สามัญวิศวกร 3500 บาท
d.      รวมทั้งหมดก็ประมาณ 5800 บาทใน กรณีที่สอบผ่านเลยนะครับ ถ้าไม่ผ่านก็จะมีเพิ่มอีก 1500 บาท หรือต้องไป  อบรมเฉพาะด้านตามที่ทางคณะกรรมการแนะนำนะครับ

วันพุธที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2561

รีวิวการเลื่อนระดับจากภาคีวิศวกรไฟฟ้ากำลังเป็นสามัญวิศวกรไฟฟ้ากำลัง ตอนที่ 1

รีวิวการเลื่อนระดับจากภาคีวิศวกรไฟฟ้ากำลังเป็นสามัญวิศวกรไฟฟ้ากำลัง ตอนที่ 1 🤣😆🙄


              สวัสดีครับวันนี้ก็จะมารีวิว เรื่องการขอเลื่อนระดับจากภาคีวิศวกรไฟฟ้ากำลังเป็นสามัญวิศวกรไฟฟ้ากำลัง หลายๆ คนก็คงรู้และคุ้นเคยกับใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม หรือ ที่เรียกกันสั้นๆว่าใบ กว. แล้วเป็นอย่างดีนะครับ เพราะฉะนั้นผมจะขอข้ามไปเลยนะครับว่า ใบ กว. คืออะไรและมีไว้ทำอะไร เริ่มจากเล่าเรื่อง สิ่งที่ผมทำก่อนนะครับ ผมจบวิศวกรรมไฟฟ้า ได้รับใบ กว. ระดับภาคีไฟฟ้ากำลัง เมื่อปี 2557  โดยจบมาก็ได้ทำงานเกี่ยวกับพิจารณาตรวจสอบ 6 เดือน หลังจากนั้นก็ทำงานออกแบบงานระบบไฟฟ้าสำหรับอาคาร เช่น ออกแบบสำนักงาน โรงพยาบาล อาคารวิจัย อาคารศูนย์สุขภาพฯ มาเรื่อยๆนะครับ ซึ่งตอนเข้ามาทำงานออกแบบตอนแรกๆ เราจะยังไม่เห็นภาพนะครับว่าใบ กว. แต่ละระดับสำคัญอย่างไร จนเมื่อเราทำงานได้ซักพัก เราจะเริ่มเข้าใจว่าใบ กว. ระดับภาคี นั้นไม่สามารถทำงานได้ครอบคลุมขอบเขตของงานอาคารนะครับ จึงทำให้เราต้องมาเลื่อนระดับเป็นสามัญวิศวกรไฟฟ้ากำลัง

อันดับแรก ไปดูในเวปของสภาวิศวกรครับว่ามีข้อกำหนดอะไรบ้าง 

ผมสรุปและแบ่งขั้นตอนออกเป็น 3 ขั้นตอนหลักๆนะครับ ได้แก่

1. เตรียมเอกสาร และตรวจสอบเอกสาร
2. สอบสัมภาษณ์ 
3. ประกาศผลและชำระเงิน 

ขั้นที่ 1 เตรียมเอกสาร และตรวจสอบเอกสาร
               เอกสารที่เราต้องยื่นให้ วสท. มีดังนี้ครับ
แบบฟอร์มคำขอรับใบอนุญาติวิศวกรรมควบคุมนะครับ ตามภาพข้างล่างนะครับ 



รายละเอียดการกรอกก็ทั่วไปนะครับไม่มีอะไรพิเศษ หลักๆเป็นข้อมูลต่างๆของเราครับ

ประวัติการประกอบวิชาชีพ ตามแบบฟอร์มข้างล่างนะครับ




ให้กรอกประวัติการทำงานที่เคยทำและกำหนดประเภทของงานนะครับ เช่น งานออกแบบและคำนวณ งานพิจารณาตรวจสอบ ซึ่งต้องอยู่ในช่วงเวลาที่เราได้รับใบ กว. แล้วนะครับ โดยตามจริงแล้วผมว่าควรที่จะกรอกรายละเอียดและลักษณะงานที่ทำให้ละเอียดกว่านี้อีกนิดนึงจะดีครับ (แต่ผมไม่รู้จะเขียนอะไร - -")

- บัญชีแสดงปริมาณผลงานในการประกอบวิชาชีพ ตัวอย่างข้างล่างนะครับ



บัญชีแสดงปริมาณผลงานในการประกอบวิชาชีพ

หลักๆก็กรอกข้อมูลตามที่ วสท แนะนำนะครับ โดยผมจะกรอกโดยใช้รูปแบบคล้ายๆข้างบน โดยแล้วแต่นะครับว่าแต่ละคนทำงานประเภทไหนนะครับ จะใส่ให้มีรายละเอียดมากกว่านี้ก็ได้ โดยส่วนนี้ผมจะกรอกงานทุกโครงการทุกโครงการที่เคยทำลงไปหมดเลยนะครับ เพื่อให้เห็นในส่วนของงานที่เราทำเสร็จแล้ว และตอนนี้เราทำงานอะไรอยู่บ้าง โดยต้องมีวิศวกรระดับสามัญขึ้นไปเซ็นรับรองผลงานในนี้ด้วยนะครับ

- รายงานแสดงผลงานดีเด่น  (ตาม วสท. อย่างน้อย 2 ไม่เกิน 5 โครงการ)

 ส่วนนี้เป็นส่วนที่ฟรีสไตล์ และมีรายละเอียดมากที่สุดนะครับ เนื่องจากเคยเห็นรูปเล่มของรุ่นพี่แต่ละคนก็ เขียนบรรยายออกมาในวิธีการที่ไม่เหมือนกันนะครับ แต่ข้อมูลหลักๆ ยังคงมีเหมือนกันครับ เช่น โครงการอะไร ก่อสร้างตอนไหน เสร็จตอนไหน มีปัญหาอะไรและแก้อย่างไร มีผู้รับเหมาและคอนซัลท์เป็นใคร เป็นต้น อันนี้แล้วแต่จินตนาการเลยครับ โดยถ้าใครจับงานไหนคนเดียวทั้งงานผมว่าจะมีอะไรเขียนบรรยายเยอะมากครับ หลักๆ ผมคิดว่าส่วนที่ควรใส่เข้าไปควรเป็นส่วนที่ปรากฎและอ้างอิงในมาตรฐาน วสท. ครับ เช่น คำนวณกระแสลัดวงจร แรงดันตก ฯ ใส่ไปเลยครับรายการคำนวณต่างๆ ซึ่งโดยส่วนตัวผมคิดว่ายื่นซัก 3 ผลงานกำลังดีครับ โดยทั้ง 3 ผลงานจะดีที่สุดต้องมีความหลากหลาย เช่น โรงพยาบาล 1 งาน หอพัก 1 งาน อาคารสำนักงาน 1 งาน เป็นต้น  โดยเราต้องเตรียมผลงานเป็น 3 ชุดนะครับ สำหรับกรรมการ 3 ท่าน  (ซึ่งก็จะมีทั้งคนทำแบบเล่มเดียว 3 โครงการ และ โครงการละ 1 เล่ม 3 เล่ม  อันนี้ก็แล้วแต่สะดวกครับ)


ตัวอย่างหัวข้อที่นำมาทำเป็นรูปเล่มส่งครับ


- ต้องเตรียมสำเนาใบ กว. ของเรา และรูปถ่ายขนาดติดบัตร 1 รูปด้วยครับ

- โดยต้องสำเนาใบอนุญาติของวิศวกรผู้รับรองมา พร้อมระบุที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ สถานที่ทำงานและความเกี่ยวข้องกับเรา มาด้วยนะครับ ซึ่งส่วนนี้ผมจะแยกเป็นสองใบนะครับ ใบแรกเป็นสำเนาใบ กว. ใบที่สองพิมพ์เป็นเอกสารแสดงข้อมูลของผู้รับรองพร้อมลายเซ็นต์กำกับครับ
เอกสารข้อมูลผู้รับรอง


เมื่อเตรียมเอกสารครบแล้วก็เตรียมไปยื่นที่สภาวิศวกรได้เลยครับ โดยเมื่อไปถึงสภาวิศวกรนะครับก็ให้ขึ้นไปกดบัตรคิวที่ชั้น 2  





พอเจ้าหน้าที่เรียกเค้าก็จะถามข้อมูลทั่วไปนะครับว่า ยื่นสาขาอะไร งานอะไร แล้วเจ้าหน้าที่ก็จะเช็คอายุ กว. ว่าครบสามปีหรือไม่นะครับ เมื่อตรวจสอบข้อมูลเสร็จ  เจ้าหน้าที่ก็จะพิมพ์เอกสารให้เราใบนึงเป็นเหมือนใบรับเรื่องและแจ้งว่าการตรวจสอบผลงานประมาณ 1-3 เดือนครับ โดยจะมีเจ้าหน้าที่โทรไปแจ้งอีกครั้งเมื่อผลงานผ่านและได้รอบสัมภาษณ์ครับ ซึ่งเราสามารถตรวจสอบสถานะของเราเบื้องต้นได้ทางเวปของ วสท. เลยครับ โดยเข้าไปที่ http://www.coe.or.th/coe-2/main/coeHome.php?aMenu=21301 กรอกเลขสมาชิกลงไป ระบบก็จะแสดงสถานะให้ดูครับ โดยตอนแรกจะขึ้นเป็น อยู่ระหว่างพิจารณาผลงานครับ (ลืมเก็บภาพครับ)




ระหว่างที่รอก็เตรียมตัวชิวๆ ไปครับ อ่านบ้างไม่อ่านบ้างเพราะไม่รู้กรรมการจะถามอะไร เน้นที่ มาตรฐานติดตั้งของ วสท.  การรับไฟจากการไฟฟ้าและอุปกรณ์ต่างๆ และก็ผลงานดีเด่นที่เราส่งไปครับผ่านไปประมาณ 3 อาทิตย์ เข้าไปเช็คสถานะอีกรอบ



เจ้าหน้าที่ก็โทรมาแจ้งครับว่า ผลงานผ่านแล้วและแจ้งวันนัดสัมภาษณ์วันที่ 13/09/60 โดยในเวปจะเปลี่ยนสถานะเป็นสัมภาษณ์พร้อมแจ้งวันและเวลานัดสัมภาษณ์โดยละเอียด หลังจากที่เจ้าหน้าที่โทรมาแจ้งประมาณ  1 อาทิตย์ครับ 




รวมๆในเคสผมใช้เวลา 1 เดือนพอดีในการตรวจผลงาน และ มีเวลาประมาณอีก 1 เดือน เพื่อเตรียมตัวสำหรับการ
สอบสัมภาษณ์ก็ขอพักตอนที่ 1 ไว้เท่านี้ก่อนครับ เพราะเริ่มจะยาวเกิน  -_-''